พื้นที่สีเขียว หมายถึง พื้นที่ธรรมชาติ หรือพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกำหนดขึ้นในเมืองหรือชุมชนปกคลุมด้วยพืชเป็นองค์ประกอบหลัก มีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน
.
ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความถี่ และความรุนแรงของการเกิดพายุ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วทุกมุมโลก
.
จากวิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้ ทำให้ผู้นำจากนานาประเทศต้องเข้าร่วมการประชุมระดับโลก เพื่อหารือถึงแนวทาง กลไก มาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้ ขณะเดียวกันการประชุมของผู้นำในแต่ละการประชุมได้ดึงดูดความสนใจกับผู้ที่มีความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมให้หันมานำแนวทางไปปรับใช้และยึดถือปฏิบัติ
.
หนึ่งในแนวทางที่พบได้บ่อยครั้ง คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมีเหตุผลมาจากการทำให้สิ่งแวดล้อมยังคงสมดุล การพัฒนาในอดีตทำให้ต้องมีการใช้ทรัพยากรมากเกินขีดจำกัด เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ การนำหินและแร่ต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ เป็นต้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมเดิมที่มีอยู่ พร้อมกันนั้นก็ได้มีการปลดปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นของเสียทางน้ำ ดิน บรรยากาศ อันเป็นที่มาของการสะสมและรวมตัวของก๊าซเรือนกระจกภายในระยะเวลาไม่กี่ร้อยปี ก๊าซเหล่านี้ได้เพิ่มปริมาณมากยิ่งขึ้นและสะสมความร้อน ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ไม่อาจทนทานหรือปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้จึงต้องล้มตายหรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิดไป
.
การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติและการเพิ่มขึ้นของของเสียและก๊าซเรือนกระจกนี้จึงเป็นที่มาของการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ผู้นำจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมต่างหันมานำไปยึดถือปฏิบัติ
.
การเพิ่มพื้นที่สีเขียว จะช่วยทำให้มีแหล่งกักเก็บคาร์บอน รวมถึงเพิ่มแหล่งดูดซับความชื้น กล่าวคือ ในพื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวจะช่วยดูดซับความชื้นไว้ทั้งภายในดินและอากาศโดยรอบ ความชื้นที่ดูดซับไว้นี่เองจะช่วยให้เกิดวัฏจักรของน้ำ น้ำที่ถูกดูดซับไว้โดยพื้นที่สีเขียว เมื่อระเหยกลายเป็นไอน้ำ ท้ายที่สุดแล้วก็จะควบแน่นตกลงมากลายเป็นน้ำฝน หมุนเวียนเป็นวงจร แต่ถ้าหากไม่มีพื้นที่สีเขียว โอกาสในการเกิดวัฏจักรของน้ำจะลดลงจนกระทั่งบางพื้นที่เกิดปัญหาภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล
.
นอกจากนี้ พื้นที่สีเขียวยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นเลิศ เป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายว่าพืช คือ ผู้ผลิตที่สามารถผลิตอาหารได้โดยใช้กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ในกระบวนการดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนระหว่างก๊าซออกซิเจน (Oxygen : O2) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide : CO2) ในช่วงเวลาที่มีแสงแดดส่องถึง พืชจะดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้แล้วปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา กระบวนการนี้เองที่ทำให้พื้นที่สีเขียวจึงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญเป็นอย่างมาก หากไม่มีพื้นที่สีเขียวจะไม่มีแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อยู่เลย
.
การเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนและแหล่งกักเก็บความชื้นนี้ของพื้นที่สีเขียวจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทำให้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มดียิ่งขึ้น
.
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวสามารถกระทำได้ไม่ใช่เพียงแต่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติเท่านั้น ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมในเมืองอีกด้วย ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้โดยการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่มีการกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวรวมอยู่ด้วย นอกจากจะมีประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านสุนทรียภาพของผู้พักอาศัยและสิ่งแวดล้อมโดยรอบอีกด้วย
.
.
HiddenChess เขียน
เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565, จาก https://actionforclimate.deqp.go.th/knowledge/2523/
บีบีซี นิวส์ ไทย. โลกร้อน (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565, จาก https://www.bbc.com/thai/international-59156625
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. พื้นที่สีเขียว (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3
กรกฎาคม 2565, จาก https://www.onep.go.th/พื้นที่สีเขียว