วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Biodiversity Day)
.
แม้ในปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีของมนุษย์จะพัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ก็ตาม แต่เราก็ยังคงต้องพึ่งพาระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่มีน้ำ อาหาร ยา เสื้อผ้า เชื้อเพลิง ที่อยู่อาศัย และความหลากหลายทางชีวภาพ
.
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือ การที่มีชนิดพันธุ์ (species) สายพันธุ์ (genetic) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก กล่าวคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ และระบบนิเวศ ทำให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นสามารถเลือกการบริโภคได้ เช่น ข้าว หากมีความหลากหลายของสายพันธุ์ เราสามารถเลือกบริโภคข้าวจ้าว ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวญี่ปุ่นได้ แต่หากความหลากหลายของสายพันธุ์ลดลง เราอาจเลือกบริโภคได้เพียงข้าวเหนียวและข้าวจ้าวได้เท่านั้น เป็นต้น
.
จากที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้โดยง่ายเท่านั้น แต่มากไปกว่านั้นความหลากหลายทางชีวภาพอาจสามารถมองเป็นภาพรวมของการมีทรัพยากร หากทรัพยากรลดลง ราคาของทรัพยากรนั้นก็จะมีราคาที่สูงขึ้น อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลกระทบเชิงลบในด้านสังคมคือ การแก่งแย่งทรัพยากรที่เหลืออยู่ การกักตุนอาหาร ความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำรวมถึงปัญหาอาชญากรรมอาจเพิ่มสูงขึ้น ดังประโยคที่เราเคยได้ยินบ่อยครั้งว่า “ไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติอยู่ได้ แต่ถ้ามนุษย์ไม่มีธรรมชาติ มนุษย์อยู่ไม่ได้”
.
ในทางกลับกัน หากเรามีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มสูงขึ้น ระบบนิเวศจะอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพืชป่า ธัญญาหารล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์ป่าน้อยใหญ่
.
ในภาคการเกษตร เกษตรกรสามารถเลือกเพาะปลูกได้หลากหลายชนิดพันธุ์มากยิ่งขึ้น สามารถสลับสับเปลี่ยนชนิดพันธุ์ได้ มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่หลากหลาย ส่งผลต่อมายังผู้บริโภคที่สามารถเลือกบริโภคได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นและได้สินค้าในราคาที่ย่อมเยา สำหรับในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ต้นทุนของทรัพยากรที่จัดซื้อเข้ามาประกอบกิจการหรือทำกิจกรรมภายในจะมีต้นทุนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับในสถานการณ์ที่ความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลง
.
ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 ให้วันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Biodiversity Day)” เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CDB) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1992
.
กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้บันทึกสถิติภัยพิบัติครั้งใหญ่ได้มากกว่า 7,000 เหตุการณ์ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนถึง 1.2 ล้านชีวิตและบาดเจ็บอีกกว่า 4 พันล้านชีวิต แต่มนุษย์ก็ไม่อาจป้องกันตนเองจากภัยพิบัติเหล่านี้ได้ เราจึงต้องพึ่งพาระบบทางธรรมชาติ (Natural System) มาป้องกันเราจากภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นและยังคงทวีความรุนแรงและถี่มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
.
ระบบนิเวศป่าชายเลน คือ ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มักเป็นสถานที่แรกที่ป้องกันคลื่นและภัยน้ำท่วม ด้วยลักษณะพิเศษที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่นของระบบนิเวศป่าชายเลนที่มีพันธุ์พืชที่โดดเด่นมีความจำเพาะเจาะจง โดยพืชเหล่านี้มักมีระบบรากที่บางส่วนอยู่เหนือผิวดิน มีลักษณะรากที่หนาและแข็ง มีความสลับซับซ้อน เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น เช่น พายุที่ทำให้เกิดคลื่นและลมที่รุนแรง ป่าชายเลนเปรียบเสมือนป้อมปราการด่านแรกที่คลื่นและลมต้องเคลื่อนที่ผ่าน แต่ด้วยลักษณะพิเศษของพืชพันธุ์ที่โดดเด่นในระบบนิเวศป่าชายเลน จึงทำให้เกิดการชะลอตัวลงของคลื่นและลม บางส่วนสามารถผ่านป้อมปราการเหล่านี้ไปได้ แต่กว่าจะเคลื่อนตัวไปยังบริเวณที่พักอาศัยของมนุษย์ ลมและคลื่นเหล่านี้ก็มีความรุนแรงลดต่ำลง จนกระทั่งหลายพื้นที่แทบไม่ได้รับผลกระทบเลยหรือได้รับผลกระทบที่มีความรุนแรงในระดับปานกลางถึงระดับต่ำมาก แต่หากไม่มีระบบนิเวศป่าชายเลนในพื้นที่เลย ชุมชนและที่พักอาศัยของมนุษย์คงจะต้องเผชิญและรับแรงกระแทกจากคลื่นและลมพายุเหล่านี้โดยตรงอย่างรุนแรง
.
จากที่กล่าวมานี่เองจึงเป็นบทบาทและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่พลเมืองไทยและพลเมืองจากนานาประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสนใจและดูแลรักษากันมากยิ่งขึ้น
.
.
เราจะสามารถมีส่วนช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติเหล่านี้ลงได้อย่างไรบ้าง ?
จากสื่อวิดีทัศน์ของ United Nations Biodiversity ได้ให้คำแนะนำ ดังนี้
- ลงทุน “โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว” (investing in “green infrastructure”)
- มีทุนวิจัยด้านเทคโนโลยีและด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (funding research into technology and biotechnology)
- ขยายพื้นที่คุ้มครองและกำหนดมาตรการอนุรักษ์ในแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ (expanding protected areas and other effective area-based conservation measures)
- ส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน (promoting ecosystem restoration and addressing soil carbon)
.
ความหลากหลายทางชีวภาพ มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิต ไม่ใช่เพียงแต่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเท่านั้น ภายในสิ่งแวดล้อมเมืองเราก็สามารถพบความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากมนุษย์ เช่น กระรอก สุนัข แมว แมลง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งหากภายในเมืองไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพเลย นั่นหมายถึง การมีมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวภายในเมือง พร้อมกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเราอาจสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าปราศจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ภายในสิ่งแวดล้อมเมือง การดำรงชีวิตเราในเชิงของความรู้สึกและอารมณ์ของเราอาจมีความแตกต่างมากกว่าเดิม เนื่องจากมีเพียงมนุษย์กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตที่ไร้ความรู้สึกและจิตใจ รวมทั้งการบริโภคของเราก็จะเปลี่ยนไป เราจะต้องมีการนำเข้าสินค้าในระยะทางที่ไกลขึ้นและมีราคาที่สูงขึ้น
.
ดังนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสอดคล้องและเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ เพียงแค่ 1 คนหันมาตระหนักและให้ความสำคัญ แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง
ย่อมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นและอาจส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปสู่ผู้อื่น สุดท้ายแล้วย่อมก่อเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลง
ที่ยิ่งใหญ่
.
.
HiddenChess เขียนและแปล
เอกสารอ้างอิง
Convention on Biological Diversity. International Day for Biological Diversity – 22 May (Online).
Retrieved May 12, 2022, from https://www.cbd.int/idb/
International Institute for Sustainable Development (IISD). A brief history of the convention on
biological diversity (Online). Retrieved May 12, 2022, from https://enb.iisd.org/vol09/0907001e.html#:~:text=The%20Convention%20on%20Biological%20Diversity%2C%20was%20opened%20for%20signature%20at,and%20to%20share%20its%20benefits.
United Nations. International Day for Biological Diversity 22 May (Online). Retrieved May 12,
2022, from https://www.un.org/en/observances/biological-diversity-day
United Nations Biodiversity. Biodiversity Day (Online). Retrieved May 17, 2022, from
อ้างอิงรูปภาพ
United Nations. UN Biodiversity Conference (COP 15) (Online). Retrieved May 18, 2022, from
https://www.un.org/sustainabledevelopment/goal-of-the-month-editorial-april-2022/