เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษที่โลกเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวและไม่สามารถคาดการณ์ได้ ผลพวงที่ตามมามักเป็นรูปแบบของภัยธรรมชาติ โดยในปัจจุบันมีความรุนแรงและมีความถี่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น น้ำท่วมฉับพลัน พายุจากลมมรสุมต่าง ๆ ฝนกรดกัดกร่อนสถาปัตยกรรม ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้คน เป็นต้น
.
อีกหนึ่งสาเหตุที่มีความสัมพันธ์กันกับ Climate Change นั่นก็คือ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) โดยวิเคราะห์จาก “อุณหภูมิเฉลี่ย” ทั่วโลกเป็นหลัก ไม่ได้หมายถึงอุณหภูมิสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ พืชและสัตว์บางสายพันธุ์อัตราการขยายพันธุ์ลดลง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมักต้องใช้ระยะเวลาหลายร้อยปีเพื่อปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตและสืบทอดสายพันธุ์ได้ แต่ดังที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ Climate Change ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศ ดังนั้น ในสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัวได้ยาก หลายชีวิตต้องล้มตาย สิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ในที่สุด
.
สาเหตุหลักของ Global Warming เกิดจากการมีปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHGs) เพิ่มสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ ดังนี้
- ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide : CO2)
- ก๊าซมีเทน (Methane : CH4)
- ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide : N2O)
- ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbon : HFCs)
- ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbon : PFCs)
- ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur hexafluoride : SF6)
- ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (Nitrogen Trifluoride : NF3)
.
แท้ที่จริงแล้ว โลกมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ในชั้นบรรยากาศแต่เดิมอยู่ก่อนแล้ว หากก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้อยู่ในชั้นบรรยากาศในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยควบคุมอุณหภูมิของโลกให้มีความอบอุ่น เหมาะแก่การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลก แต่หากไม่มีก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้อยู่เลย โลกจะมีอุณหภูมิเยือกแข็งหรืออุณหภูมิแบบติดลบ สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากก๊าซเหล่านี้จะดูดซับความร้อนไว้ในอนุภาค เมื่ออยู่ในชั้นบรรยากาศจะทำให้โลกอบอุ่นนั่นเอง ดังนั้น ก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ตัวร้าย
เสียทีเดียว
.
แต่จาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น มีผลจากการมีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่มีอยู่เดิมในธรรมชาติ ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าเดิมนั้นส่วนใหญ่แล้วมาจากกิจกรรมของมนุษย์ จากการพัฒนาที่ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ การไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กิจกรรมต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน
.
ในการวัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเรียกการประเมินในลักษณะนี้ว่า “คาร์บอนฟรุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)” โดยทั่วไปแล้วมีการคำนวณออกมาเป็นปริมาณน้ำหนักคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (หน่วยน้ำหนัก CO2 eq.) ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้นล้วนอาจมีส่วนทำให้เกิด Carbon Footprint โดยข้อมูลจากคู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แสดงดังรูปที่ 1-3 ได้ให้รายละเอียดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้
รูปที่ 1 ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน (1)
ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (2563).
รูปที่ 2 ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน (2)
ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (2563).
รูปที่ 3 ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน (3)
ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (2563).
เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต คำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้ารายเดือน การใช้จักรยานเดินทางในระยะทางที่ใกล้แทนการใช้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
.
สุดท้ายนี้ เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ เพื่อชะลอและ/หรือมีส่วนร่วม ในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบจาก Climate Change เพื่ออนาคตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลก
.
.
HiddenChess เขียน
เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565, จาก https://actionforclimate.deqp.go.th/downloads/2517/
สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร. คู่มือ คลายร้อน ให้โลก (ที่) รัก (ออนไลน์). สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 10
พฤษภาคม 2565, จาก https://www.jica.go.jp/thailand/english/office/topics/c8h0vm0000bm5965-att/events100929_01.pdf
เอกสารอ้างอิงรูปภาพ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565, จาก https://actionforclimate.deqp.go.th/downloads/2517/
Pexels. Clamate Change (Online). Retrieved May 10, 2022, from https://www.pexels.com