ทะเลและมหาสมุทร ต้นกำเนิดของทุกสรรพชีวิต กว่าหลายร้อยล้านปีที่โลกได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อมีน้ำ แสงแดด ชั้นบรรยายกาศ ผู้ผลิตใช้การสังเคราะห์แสงในกระบวนการผลิตอาหารและดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กได้ถือกำเนิดและวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นห่วงโซ่อาหาร และระบบนิเวศ
.
ระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศหนึ่งสามารถมีความสัมพันธ์ได้มากกว่าหนึ่งระบบนิเวศ เช่นเดียวกับระบบนิเวศป่าชายเลน (Mangrove Ecosystem)
.
ระบบนิเวศป่าชายเลน มีความสำคัญทั้งในเชิงนิเวศวิทยา เศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตหลายร้อยชีวิต โดยเฉพาะการเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ เป็นที่หลบภัยของสัตว์ที่เป็นเหยื่อให้กับสัตว์ที่เป็นผู้ล่า เป็นแหล่งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ทะเลและมหาสมุทรยังคงอุดมไปด้วยสัตว์เศรษฐกิจสร้างมูลค่าให้กับผู้คนในท้องถิ่นในเวลาต่อมา
.
จากความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลนที่กล่าวมานี้ ประกอบกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2534 จึงทำให้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบจาก ครม. ให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ”
.
ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศอยู่ในช่วงที่เหมาะสมต่อการมีระบบนิเวศป่าชายเลน แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาวะโลกรวนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงคืบคลาน เกิดความแปรปรวนคลื่นลม ฤดูกาล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฝนกรด ล้วนแล้วแต่กระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรของมนุษย์
.
ป่าชายเลน คือ หนึ่งในแหล่งทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เพียงแต่ระบบนิเวศป่าชายเลนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหากป่าชายเลนลดลงหรือเสื่อมโทรมลง จะส่งผลระยะยาวต่อทรัพยากรทางทะเล กล่าวคือ “ทรัพยากรทางทะเลกำลังจะหมดไป” ในอนาคตสัตว์ทะเลอาจหาได้ยากขึ้น ชาวประมงต้องออกทะเลไปไกลจากบ้านมากขึ้นและยาวนานมากยิ่งขึ้น รายได้ต่อครัวเรือนลดลง ชาวประมงบางครัวเรือนอาจต้องเลิกการประกอบอาชีพ และหันไปประกอบอาชีพอื่นหรืออาจเกิดการว่างงาน ขาดรายได้ที่จะนำไปหล่อเลี้ยงครอบครัว รายได้ที่จะนำไปส่งเสริมและสนับสนุนบุตรหลานทางการศึกษาลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อแรงงานในภาพรวมของประเทศได้ในอนาคต มากไปกว่านั้นอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศและกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น ๆ
.
ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงที่กล่าวมานี้เริ่มต้นจากสาเหตุเดียวกัน หากเราแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุนั่นอาจเป็นการแก้ไขที่ไม่ยั่งยืน ทางเดียวที่สามารถแก้ไขความท้าทายเหล่านี้ได้ คือ การแก้ไขที่ต้นเหตุหรือสาเหตุหลัก “มนุษย์” ทุกคน สามารถเป็นผู้ร่วมแก้ไขความท้าทายเหล่านี้ได้ มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากการคิด วิเคราะห์ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และลงมือปฏิบัติ โดยอาจเริ่มจากการสนับสนุนการอนุเคราะห์ฟื้นฟูต่าง ๆ เพียงแค่เล็งเห็นความสำคัญ ให้ความใส่ใจประเด็นป่าชายเลน คือ หนึ่งในการสนับสนุนและมีส่วนช่วย เนื่องจากการให้ความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของความตระหนัก ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการคิดและการลงมือปฏิบัติในเวลาถัดมา เช่น การไม่เข้าไปบุกรุกหรือทำลายทรัพยากรเหล่านี้และอาจสื่อสารต่อบุคคลอื่นที่ใกล้ชิดว่า “ป่าชายเลนนั้นสำคัญอย่างไร” เมื่อมีการเริ่มต้นจากบุคคลหนึ่งและมีการส่งต่อผ่านการสื่อสาร สามารถก่อเกิดเป็นเครือข่าย องค์กรหรือหน่วยงานความร่วมมือต่าง ๆ และอาจเริ่มต้นง่าย ๆ ในโอกาสนี้ โดยผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนและแบ่งปันด้วยประโยคสั้น ๆ เพียง “10 พฤษภาคม วันป่าชายเลนแห่งชาติ”
.
.
HiddenChess เขียน
เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. 10 พฤษภาคม วันป่าชายเลนแห่งชาติ (ออนไลน์). สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 5
พฤษภาคม 2565, จาก https://www.facebook.com/deqpth/
อ้างอิงรูปภาพ
Pexels. Mangroove (Online). Retrieved May 5, 2022, from https://www.pexels.com