ร่องเรือไปตามลำน้ำ เห็นปลาตีน ต้นโกงกาง โปรง ลำพู ตะบูน ปูแสม
กลิ่นเกลือทะเลจางๆ มาตามลม จากกลิ่นน้ำกร่อยและกลิ่นดินโคลน เสียงกระแสน้ำผ่านท้องเรือแว่วๆ
แหงนมองเห็นเรือนยอดปกคลุม แผ่กิ่งก้านสาขา ช่างเป็นบรรยากาศที่มีเอกลักษณ์
.
ป่าชายเลน (Mangrove Forest) โดยทั่วไปแล้วมักขึ้นอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ หรือปากอ่าว ทะเลสาบ และเกาะ ซึ่งเป็นระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งอนุบาลลูกสัตว์ทะเล แหล่งอาหารให้สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีคุณประโยชน์ต่อการเป็นแหล่งกันคลื่นป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทางทะเลตามธรรมชาติ
.
เป็นเวลากว่าหลายสิบปี ที่ได้มีการออกมารณรงค์ อนุรักษ์ และปลูกป่าชายเลน ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากถูกลุกล้ำและมีการใช้ทรัพยากรมากเกินขีดความสามารถที่ป่าสามารถฟื้นฟูได้
.
ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 12 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนชายเลนไทย (Thai Mangrove Community Forests Day)” เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าชายเลน ร่วมสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
.
สิ่งที่จะได้จากการฟื้นฟูป่าชายเลน มีอะไรบ้าง ?
- ป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหารให้แก่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
เศษไม้และกิ่งไม้จากชนิดพรรณต่างๆ ของป่าชายเลน เมื่อร่วงหล่น ทับถม เกิดเป็นตะกอน ดิน และแหล่งโปรตีนให้กับสัตว์ต่างๆ เช่น ปู ค้างคาว หอย ปลาต่างๆ
- ป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์หลากหลายชนิด
จากการที่ระบบนิเวศป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ ทำให้อุดมไปด้วยแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับลูกสัตว์ต่างๆ ตัวอ่อนของสัตว์หลายชนิดต้องพึ่งพาอาศัยระบบนิเวศของป่าชายเลนจนกว่าจะเติบโตและมีความพร้อมออกสู่ทะเลใหญ่ ซึ่งหากระบบนิเวศป่าชายเลนเสื่อมโทรมลง แหล่งอนุบาลสัตว์ก็จะลดน้อยลง ส่งผลให้พืชและสัตว์ลดน้อยลง โดยเฉพาะพืชและสัตว์เศรษฐกิจที่อาจลดน้อยลงและอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจรวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ต้องอาศัยทรัพยากรทางทะเลและน้ำกร่อยเป็นหลักในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ และหาเลี้ยงครอบครัว
- ป่าชายเลนเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันหน้าดินพังทลายบริเวณชายฝั่งทะเล
หากคุณผู้อ่านเคยมีโอกาสได้เดินทางไปบริเวณที่มีป่าชายเลน จะพบเห็นต้นโกงกางเป็นพืชพรรณที่โดดเด่นในระบบนิเวศน้ำกร่อย และรากของต้นโกงกางมักมีลักษณะโค้งงอ หนา เมื่อมีคลื่นขนาดใหญ่ถูกซัดเข้ามา รากเหล่านี้จะช่วยลดกำลังแรงของคลื่นลดลง ให้เหลือเพียงคลื่นขนาดเล็ก ซึ่งช่วยป้องกันหน้าดินพังทลายได้นั่นเอง
- ป่าชายเลนช่วยป้องกันภัยธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อการเป็นอยู่ของประชากร
ป่าชายเลนเป็นกำแพงกันคลื่นตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดทอนกำลังลมและกำลังคลื่นลง ซึ่งหากไม่มีระบบนิเวศป่าชายเลนนี้ มนุษย์อาจต้องเผชิญกับกระแสลมและกระแสน้ำที่รุนแรง ปัญหาที่ดินลดลงเนื่องจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งการมีป่าชายเลนจะช่วยป้องกันภัยธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้มนุษย์ได้รับผลกระทบที่มีความรุนแรงน้อยลง
- ป่าชายเลนเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
ป่าชายเลนนอกจากจะมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่ดีอีกแหล่งหนึ่ง เนื่องจากมีพืชและสัตว์หลากหลายชนิดอาศัยรวมตัวอยู่ ณ ที่เดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ป่าชายเลนจึงมักเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติสถานที่แรกๆ ที่ผู้คนมักคิดถึง
- ป่าชายเลนจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำหรับลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปัจจุบันด้วยภาวะโลกรวนที่ส่งผลระดับโลก มีผลมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งป่าชายเลนก็เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญที่มีส่วนช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มปริมาณออกซิเจน รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและแหล่งท่องเที่ยวให้กับมนุษย์ได้อีกด้วย
.
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ นี่อาจเป็นประโยชน์เพียงบางส่วนเท่านั้น คุณค่าและคุณประโยชน์ของป่าชายเลนมีผลสืบเนื่องมาหลายชั่วอายุคน เพื่อให้ลูกหลานและคนรุ่นถัดไปยังคงมีทรัพยากรที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ การดำเนินการต่างๆ ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ร่วมกันเฝ้าระวัง ดูแลรักษา ให้ป่าชายเลนคงอยู่สืบไป
HiddenChess เขียน
เอกสารอ้างอิง
กรมอนุรักษ์ธรรมชาติและผืนดิน. ประโยชน์ของป่าชายเลนและเหตุผลที่ต้องอนุรักษ์ (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6
เมษายน 2565, จาก https://www.landfortomorrow.org/