ipbes คืออะไร?
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ในบทความนี้ผู้เขียนขอพาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “ เวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services : IPBES) ” ซึ่ง IPBES คือ องค์กรอิสระระหว่างรัฐบาลที่มุ่งเน้นการจัดการความรู้ทางวิชาการบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนหรือประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการจากระบบนิเวศเพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและการดำรงอยู่ของธรรมชาติ และอีกหนึ่งองค์กรที่สำคัญ คือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ซึ่งทั้งสององค์กรมีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณามาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นภัยคุกคามทั้งต่อมนุษย์และระบบนิเวศในธรรมชาติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ภาวะโลกรวนส่งผลทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ในเวลาต่อมา จากการประชุมและความร่วมมือระดับโลกที่ผ่านมาทำให้เกิดอนุสัญญาต่าง ๆ ขึ้นมากมาย โดยหนึ่งในอนุสัญญาที่สำคัญ คือ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
IPBES กับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
IPBES ริเริ่มแนวคิดมาจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งข้อมติการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินของ IPBES เช่น ข้อมติที่ 14/6 ที่จะช่วยสนับสนุนภาคีอนุสัญญาฯ ให้ส่งเสริมผู้เพาะเลี้ยงแมลงผสมเกสรใช้วิธีเพาะเลี้ยงที่เป็นมิตร พร้อมทั้งคำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบให้ผู้ผสมเกสรลดลงในระดับพื้นที่และระดับท้องถิ่นเพื่อลดการสูญเสียผู้ผสมเกสรซึ่งอาจส่งผลต่อผลผลิตอาหารของโลกในเวลาต่อมาได้
โดย IPBES มีเป้าประสงค์ 3 เป้าประสงค์หลัก ดังนี้
- สนับสนุนหรือแก้ไขความท้าทายด้านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจไม่เพียงพอในการนำไปกำหนดเป็นนโยบาย
- มุ่งเน้นนำเสนอองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก
- เพื่อเป็นเวทีระหว่างงานนโยบายและงานวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ
การดำเนินงานที่ผ่านมาของ IPBES สามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
- การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ การประเมินเฉพาะเรื่อง (Thematic Assessment) การประเมินระเบียบวิธีการ (Methodology Assessment) การประเมินระดับภูมิภาคและระดับโลก (Regional and Global Assessmat)
- การสนับสนุนด้านนโยบาย
- การเสริมสร้างสมรรถนะและองค์ความรู้
- การสื่อสารและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ IPBES มีแผนการดำเนินงานถึงปี 2030 โดยมุ่งเน้นเพื่อเชื่อมโยงกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 และการดำเนินงานตามพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นอย่างไรบ้างคะคุณผู้อ่าน ในบทความนี้อาจสามารถพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับคำใหม่ ๆ องค์กรใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้นมาอีกสักเล็กน้อย ให้เรารู้จักคำศัพท์และหน่วยงานรอบตัวเรามากยิ่งขึ้นเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวมากยิ่งขึ้นนะคะ ไว้พบกันใหม่ สวัสดีค่ะ
HiddenChess เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ชุดความรู้การดำเนินงานของ IPBES. 2563. ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส พี ก็อปปี้ ปริ้น.
กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ
(Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES) (Online). สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565, จาก http://chmthai.onep.go.th/?page_id=3836
IPBES. IPBES-IPCC Co-Sponsored Workshop Report on Biodiversity and Climate Change (Online).
Retrieved 1 April, 2022, from https://ipbes.net/events/ipbes-ipcc-co-sponsored-workshop-report-biodiversity-and-climate-change