สนั่น!! ก่อนการประชุม COP26 ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 10 อันดับแรกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลง “โลกรวน” ในวงกว้างทั่วโลก ทำให้นานาประเทศมีการตื่นตัวในการตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดการประชุมสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรกคือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (The United Nations Conference on Human Environment – UNCHE) ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนในปี ค.ศ. 1972 เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งนั้นก่อให้เกิดความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมต่อ ๆ เรื่อยมา
.
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน เร็ว ๆ นี้ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2021 จะมีการประชุม COP26 หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 เกิดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
.
แต่ก่อนที่เรากำลังจะเข้าสู่การประชุม COP26 ในครั้งนี้ เป็นที่น่าตกใจทีเดียว เมื่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเผยว่า ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 10 อันดับแรกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
โดยมีสัดส่วนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 อันดับแรกได้แก่ ภาคการขนส่งและภาคพลังงาน ถึงร้อยละ 74.35 ตามมาติด ๆ ด้วยภาคการเกษตรถึงร้อยละ 15.98 (ไม่ใช่ตัวเลขน้อย ๆ เลย)
.
ดังนั้นในความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ การติดตามความคืบหน้า COP26 แบบเกาะติดสถานการณ์ดูเป็นเรื่องที่ธรรมดาของเราไปเสียแล้ว โดยการประชุม COP26 ถือเป็นการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญที่สุดตั้งแต่การประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ซึ่งนำไปสู่ความตกลงปารีส การประชุมครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่เข้าร่วมได้ตั้งเป้าจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยจะพยายามจำกัดไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (ค.ศ.1850-1900)
.
การประชุม COP26 ตรงกับรอบการประเมินระยะ 5 ปีที่แต่ละประเทศจะมาตกลงการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และจะนำผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศจาก 196 ประเทศและสหภาพยุโรป รวมทั้งตัวแทนภาคธุรกิจ องค์กร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้นำโลกมารวมตัวกันที่ศูนย์การประชุม Scottish Event Campus (SEC) เมืองกลาสโกว์ ระหว่างวันที่ 1 – 12 พฤศจิกายนนี้
.
เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ณ การประชุม COP21 ทั่วโลกเห็นชอบกับความตกลงปารีสและตกลงที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในการประชุม COP26 ในปีนี้ทุกประเทศจะให้คำมั่นที่จะดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิดังกล่าวเป็นไปตามที่ตั้งไว้
.
และล่าสุดก่อนการประชุม COP26 นี้ มีการแถลงข่าวว่าทุกประเทศต้องการเพิ่มเป้า NDC (Nationally Determined Contribution) หรือเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
.
โดย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50-52 ภายในปี 2573 ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรประกาศจะออกกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 78 ภายในปี 2578 ฝั่งไทยเรารัฐมนตรีวราวุธ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กล่าวแถลงเป้า NDC ของไทยที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573
.
ช่วงเดือน พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ ว่าที่ประธานการประชุม COP26 นายอล็อก ชาร์มากล่าวว่า
.
“นี่คือความหวังสุดท้ายของเราที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะสร้างอนาคตที่สดใสกว่า อนาคตแห่งงานสีเขียวและอากาศที่สะอาดยิ่งขึ้น ผมเชื่อมั่นว่าผู้นำโลกจะลุกขึ้นคว้าโอกาสนี้และไม่ปล่อยให้คำสัญญากับธรรมชาติของเราหลุดลอยไป และอีก 6 เดือนจากนี้ ขณะที่เรากำลังเก็บของกลับบ้าน[ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม] เราจะสามารถพูดได้ว่าเราทุกคนได้แสดงความรับผิดชอบในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ว่าเราได้เลือกที่จะลงมือและเราได้รักษาอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าที่ตั้งไว้
.
ระหว่างเตรียมสุนทรพจน์วันนี้ผมถามลูกสาวของผมว่าผมจะบอกอะไรกับผู้นำโลกดี เพื่อให้พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ลูก ๆ ของผมตอบมาอย่างง่ายดายว่า “บอกพวกเขาให้เลือกโลกของเรานะคะ” และนั่นก็คือสิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้กับคุณในวันนี้ สิ่งที่ลูกสาวของผมฝากมา สิ่งที่คนรุ่นหลังฝากมา นี่แหละคือเวลาของเรา ไม่มีโอกาสครั้งที่สอง เลือกโลกของเรากันเถอะครับ”
ในการแถลงนี้นายชาร์มายังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการยุติการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลงถ่านหินและเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ จากการใช้พลังงานหมุนเวียน
.
“เพราะเราจริงจังกับการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การประชุม COP ณ เมืองกลาสโกว์จะต้องทำให้ถ่านหินกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ เรากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลต่าง ๆ ทั้งโดยตรงและผ่านองค์กรระหว่างประเทศเพื่อยุติการให้เงินสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน นี่เป็นเรื่องที่ส่วนตัวผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ยุติการใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินโดยมีกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) เป็นตัวอย่าง ในขณะเดียวกันเราก็ทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาด
.
ดังที่เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวไว้ว่าธุรกิจถ่านหินกำลังมอดไหม้เป็นควัน เป็นเทคโนโลยีเก่า ดังนั้นมาร่วมกันทำให้การประชุม COP26 เป็นช่วงเวลาที่เราทิ้งถ่านหินไว้ในอดีตดังที่ควรเป็น ในขณะที่สนับสนุนแรงงานและชุมชนต่าง ๆ ให้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไปด้วยกัน สร้างงานสีเขียวมาเติมเต็มตลาดแรงงานที่หายไป”
.
ดังนั้นแล้วในภาคการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมของบ้านเรา การได้ติดตามข่าวความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกแบบนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกยังคงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนี่คงเป็นอีกหนึ่งบทความที่ได้รวบรวมมพร้อมเสิร์ฟให้คุณได้ติดตามในเวทีสิ่งแวดล้อมโลกต่อไป
.
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก British Embassy Bangkok
HiddenChess เขียน